วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

รอมดอน เดือนที่แสนพิเศษ

มนุษย์ย่อมมีการขาดทุนเสมอ ยกเว้นผู้ประกอบความดีและดำรงชีวิตบนหนทางของศาสนาอย่างเคร่งครัด และในทุกเวลามนุษย์จะมีโอกาสทบทวนคุณค่าของชีวิตของเขา อันเป็นวิถีทางในการสำรวจความศรัทธาและความผูกพันกับพระผู้เป็นเจ้า บุคคลที่ไม่สำนึกถึงความสำคัญของเวลา ย่อมจะไม่มีโอกาสประกอบความดี อันเนื่องจากไม่มีการคำนึงถึงความโปรดปรานและคุณค่าของเวลาและชีวิต จึงเป็นเหตุที่ทำให้มนุษย์นั้นจะอยู่ในความทุกข์ตลอดกาล อัลอิสลามสอนให้เราตระหนักในคุณค่าของเวลา และระลึกถึงโลกหน้าอันเป็นเป้าหมายสำหรับผู้ศรัทธาที่ใช้ชีวิตอย่างประหยัดและคุ้มค่า โดยมีหลักการของศาสนาเป็นมาตรการที่จะควบคุมกิจกรรมของชีวิตของมุอฺมิน



ตลอดระยะ 1 ปี มนุษย์ทุกคนจะปฏิบัติตัวโดยใช้เวลาเป็นต้นทุน ซึ่งกำไรที่จะได้ในชีวิตนั้นมักจะขึ้นอยู่กับวิธีใช้เวลานั่นเอง เปรียบเสมือนนักธุรกิจซึ่งนำต้นทุนไปใช้ในการค้าโดยมีพื้นฐานและข้อมูลเกี่ยวกับการตลาดและการผลิต แน่นอนผลกำไรของนักธุรกิจคนนี้จะแตกต่างจากอีกคนหนึ่งที่นำต้นทุนไปสู่การทำการค้าโดยปราศจากข้อมูลและประสบการณ์ จึงเป็นสาเหตุที่จะทำให้เขาล้มละลาย สิ้นกำไรและต้นทุนด้วยซ้ำ



ในอัลกุรอานมีคำสอนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ต่อมนุษย์โดยทั่วไปและเฉพาะบรรดาผู้ศรัทธา ซึ่งจะเป็นบทเรียนสำหรับมนุษยชาติ ให้ใช้เวลาอย่างประหยัด ดำรงชีวิตอย่างมีค่า อัลลอฮฺทรงระบุคำพูดของยะฮูดที่มีความหวังในการจะมีชีวิตยืนนาน แต่อัลลอฮฺสอนพวกเขาว่า ถึงแม้ว่าชีวิตจะยืนนาน แต่ไม่เป็นสาเหตุที่จะทำให้พวกเขาพ้นจากนรก เพราะพวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตตามพระบัญชาของพระองค์ ในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 96 อัลลอฮฺตรัสไว้มีความว่า "และแน่นอนเหลือเกิน เจ้าจะพบว่าพวกเขาเป็นมนุษย์ที่ห่วงใยยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ และยิ่งกว่าบรรดาผู้ที่ให้มีภาคีขึ้น (แก่อัลลอฮฺ) เสียอีก คนหนึ่งคนใดในพวกเขานั้นชอบหากว่าเขาจะถูกให้มีอายุถึงพันปี แล้วมันจะไม่ทำให้เขาห่างไกลจากการลงโทษไปได้ ในการที่เขาจะถูกให้มีอายุยืนนาน และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเห็นในสิ่งที่เขาเหล่านั้นกระทำกันอยู่" อายะฮฺนี้สอนบรรดาผู้ศรัทธาว่า ชีวิตของมนุษย์ย่อมจะไม่มีคุณค่าหากไม่ดำรงไว้ซึ่งการปฏิบัติตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า และจะสอนว่าชีวิตของมนุษย์นั้น แม้ว่าจะสั้น........ก็ตาม ถ้าดำรงชีวิตอย่างเป็นมุอฺมิน เป็นผู้รับใช้พระเจ้า ก็จะเป็นกำไรและความสำเร็จอย่างแน่นอน



ในปีนี้เราคงยังมีโอกาสที่จะทำสัญญามั่นกับอัลลอฮฺอีกครั้งโดยใช้เวลาอันประเสริฐมีความศักดิ์สิทธิ์ในเดือนรอมฎอน เป็นจังหวะในการทบทวน แก้ไข และปรับปรุงชีวิตของเราให้สอดคล้องกับหลักการของศาสนา ถึงแม้ว่าอดีตของเรานั้นย่อมจะมีความบกพร่องหรือพฤติกรรมชั่วร้าย แต่ประตูแห่งความเมตตาที่อัลลอฮฺทรงเปิดไว้ในเดือนรอมฎอนจะเป็นจังหวะดีเลิศที่ต้องไม่พลาดสำหรับผู้มีความหวังในการอภัยโทษของอัลลอฮฺ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า "เมื่อเดือนรอมฎอนมาถึงแล้ว ประตูแห่งสวรรค์จะถูกเปิด และประตูแห่งนรกจะถูกปิด และบรรดาชัยฏอนมารร้ายจะถูกล่ามโซ่" (บันทึกโดยบุคอรียฺ มุสลิม และอะหมัด)



มุสลิมอาจจะอยู่ห่างจากคำบัญชาของอัลลอฮฺโดยไม่มีโอกาสศึกษาอัลกุรอานหรือนำบทบัญญัติของอัลกุรอานมาเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิต แต่เมื่อเข้าเดือนรอมฎอนแล้ว มุสลิมทุกคนต้องทบทวนความสัมพันธ์กับอัลกุรอาน และพิจารณาชีวิตของเขาในการที่เขานั้นเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ จึงต้องอยู่ภายใต้อำนาจแห่งพระบัญชาของพระองค์ อัลลอฮฺตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลบะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 185 ว่า “เดือนรอมฎอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาให้ฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ” นั่นหมายถึงว่า อัลกุรอานต้องมีบทบาทสูงในชีวิตของมุสลิม ซึ่งฮิดายะฮฺหรือบรรทัดฐานของเขาจำเป็นต้องมาจากอัลกุรอาน อัลลอฮฺจึงเตือนให้เราแสวงหาจังหวะที่เมาะสมหสำหรับผู้ตั้งใจปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องในเดือนรอมฎอน หากมุสลิมได้เข้าสู่เดือนรอมฎอนโดยมีความจริงใจ (อะซีมะฮฺ) ในการทำอิบาดะฮฺและในการเตาบัตตัว แน่นอน อัลกุรอานจะเป็นกำไรอันล้ำค่าสำหรับเขา แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงความศักดิ์สิทธิ์ ความยิ่งใหญ่ และความจำเริญของอัลกุรอาน เพราะถ้าหากว่ามุสลิมจะมองเห็นอัลกุรอานในเดือนรอมฎอนเหมือนเดือนอื่นๆ เขาก็จะไม่มีโอกาสทบทวนในความสัมพันธ์กับอัลกุรอาน



ประชาชาติอัลอิสลามได้ถือศีลอดใช้เวลาในเดือนรอมฎอนเป็นร้อยๆปี แต่ทำไมสภาพอีมานและอิบาดะฮฺของบรรดามุสลิมีนจึงไม่สมกับความประเสริฐและความยิ่งใหญ่แห่งเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นข้อสังเกตสำหรับประชาชาติหรือวัฒนธรรมอื่นๆ เมื่อเขามีเทศกาลหรือฤดูเกี่ยวกับศาสนกิจ จะเห็นว่ามีความขะมักเขม้นในกิจกรรมของเขา โดยจะทำให้บรรยากาศของเทศกาลมีชีวิตชีวา แต่สำหรับประชาชาติอิสลามขณะนี้ได้หลงลืมความประเสริฐของฤดูแห่งการทำอิบาดะฮฺ และยังนำฤดูหรือเทศกาลของศาสนิกชนอื่นมาฉลอง เช่น เฉลิมฉลองปีใหม่ของคริสตศักราช วันวาเลนไทน์ วันสงกรานต์ ฯลฯ นอกจากนั้น ส่วนมากในประชาชาติอิสลามได้นำอุตริกรรมที่ไม่มีในศาสนบัญญัติ ประดิษฐ์มาเพื่อเฉลิมฉลอง เช่น วันเมาลิดนบี ทั้งๆที่นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยืนยันว่าวันเฉลิมฉลองของบรรดามุสลิมีนมีเพียง 2 วันคือ อีดุ้ลฟิตริและอีดุ้ลอัฎฮา



เมื่อเรากลับมาพิจารณาสาเหตุที่ทำให้มุสลิมไม่ตระหนักในความประเสริฐของเดือนรอมฎอน จะพบว่าประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบในเรื่องนี้คือ การที่มุสลิมนั้นยอมแพ้ต่อนัฟซูอารมณ์ใฝ่ต่ำ เนื่องด้วยความอยาก ความเคยชิน และความเคยตัว จึงทำให้ศักยภาพแห่งอีมานเสื่อมโทรม หมดกำลังในการดิ้นรนต่อสู้อุปสรรคต่างๆ เช่น สภาพอากาศ ความรื่นเริง ความสุข และผู้ขัดขวางแนวทางในการทำอิบาดะฮฺของเขา อุปสรรคดังกล่าวมักจะเป็นสิ่งปกติที่มุอฺมินต้องประสบในชีวิตของเขา และเป็นสิ่งธรรมดาที่มุอฺมินต้องต่อสู้ อดทน(ซอบัร) และยืนหยัด จนกระทั่งบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็คือความสำเร็จในการทำอิบาดะฮฺให้สมประสงค์ของศาสนบัญญัติ



แต่มุสลิมที่ไม่เตรียมพร้อมในการต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ย่อมจะเผชิญกับความลำบากในการทำอิบาดะฮฺ โดยเฉพาะในฤดูกาลทำอิบาดะฮฺเช่นเดือนรอมฎอน เพราะฉะนั้น เมื่อเราสังเกตว่าการทำอิบาดะฮฺของเรานั้นไม่มีลักษณะกระตือรือร้น หรือไม่ขยันปฏิบัติอย่างขะมักเขม้น เราต้องทราบว่า อีมานของเราขณะนั้นไม่มีศักยภาพในการต่อสู้อุปสรรคแห่งการทำอิบาดะฮฺ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเสริมอีมานให้เพิ่มขึ้น เติมพลังแห่งความเชื่อในคำบัญชาของพระองค์อัลลอฮฺ และแสวงหาความรู้ในหลักการที่จะทำให้เรามีศักยภาพในการต่อสู้อุปสรรคต่างๆ และอย่าหวังว่าเราจะต้อนรับเดือนรอมฎอน โดยมีศักยภาพอันสมบูรณ์ที่จะทำให้เราทำอิบาดะฮฺได้อย่างสะดวกสบาย แต่สมรภูมิแห่งการต่อสู้อุปสรรคต่างๆ ก็คือ เดือนรอมฎอนนั่นเอง ซึ่งมุสลิมที่สามารถปฏิบัติอิบาดะฮฺอย่างเคร่งครัด ขยันทำความดี แสวงบุญ และยืนหยัดในแนวทางจนกระทั่งถึงสิ้นเดือนรอมฎอน ก็จะถือว่าได้รับชัยชนะและประสบความสำเร็จ อันเป็นรางวัลใหญ่หลวงสำหรับมุสลิมที่ลงทุนและเสียสละเพื่อรักษาอีมานและสภาพความเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ นั่นคือเป้าหมายที่ต้องตั้งไว้ในทุกปีเมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอน จึงขอให้พี่น้องทุกท่านตั้งสัญลักษณ์ไว้ในการต้อนรับเดือนรอมฎอนคือ จะทำอย่างไรเพื่อให้ได้รับชัยชนะในเดือนรอมฎอน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น