วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

องค์กรของรัฐบาลกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้





องค์กรรัฐบาลกับการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้

สารสนเทศส่วนราชการ กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานในกำกับของรัฐบาลต่างๆ แม้ขณะนี้จะยังคงมีการนำเสนอข้อมูลในรูปของสิ่งพิมพ์ที่เป็น หนังสือ วารสาร เอกสาร จุลสาร แผ่นปลิว และวัสดุตีพิมพ์อื่นๆแต่ด้วยความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ก่อประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการจัดเก็บ การประมวลผล และการเผยแพร่สารสนเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายตลอดเวลาจากทั่วทุกมุมโลก ในหลากหลายสาขาวิชาทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และการพัฒนาสาขาวิชาการใหม่ๆ อีกมาก หน่วยงานต่าง ๆของ ภาครัฐได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศนี้มาพัฒนาฐานข้อมูลในความรับผิดชอบขององค์กรเพื่อใช้ในหน่วยงาน และกระจายสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ นักธุรกิจ นักศึกษา นักวิจัย ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้ได้รับทราบทั้งเพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน การดำเนินธุรกิจ

การศึกษาค้นคว้าวิจัย และการดำรงชีวิตประจำวัน โดยการเผยแพร่ผ่าน World Wide Web นี้ทำให้ผู้ใช้ได้รับสารสนเทศอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสสารสนเทศมากมายมหาศาลจะปรากฎบนจอภาพให้ได้อ่าน ได้เลือก ตามความสนใจและตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการใช้ หากเรื่องใด รายการใดต้องการจะเก็บไว้ศึกษาค้นคว้าใช้งานก็สามารถเรียกเก็บข้อมูล (download) ใส่ไว้ในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว หรือเก็บในแผ่นบันทึกข้อมูล (diskette, CD-ROM)ซึ่งจะเรียกใช้เมื่อใดก็ได้

สารสนเทศส่วนราชการบน World Wide Web เหล่านี้ นับเป็นแหล่งสารสนเทศอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้เปล่า ไม่อาจประเมินราคาได้แต่มีคุณค่าต่อการศึกษาค้นคว้าวิจัย ครอบคลุมเนื้อหาตามความต้องการของผู้ใช้ในทุกสาขาวิชา การเข้าถึงสารสนเทศของส่วนราชการบน World Wide Web นี้เพียงมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่พร้อมด้วยอุปกรณ์ hardware, software และเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมให้สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้และรู้จักชื่อ Web site ของส่วนราชการนั้น ๆ หรือ รู้จักชื่อ Web site ของส่วนราชการแห่งใดแห่งหนึ่งก็สามารถเข้าถึง Web site ของส่วนราชการต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เพราะแต่ละ Web site จะมีคำสั่งเชื่อมโยง (link) ไปยัง Web site ทั้งของส่วนราชการ กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ Web site ที่น่าสนใจ ไว้ด้วยเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึง บรรณารักษ์ นักวิชาการ และนักเอกสารสนเทศ ได้ให้ความสนใจเข้าไปสืบค้นสารสนเทศจากแหล่งสารสนเทศส่วนราชการบน World Wide Web เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการและเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้ได้มากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม หากต้องการสารสนเทศเหล่านี้ในลักษณะ Full Text ซึ่งบางรายการมีเนื้อหามากตั้งแต่หลายสิบหน้าจนถึงเป็นร้อยหน้า การที่จะสามารถเข้าถึงสารสนเทศเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็วทันใจและมีประสิทธิภาพ จะต้องมีระบบการสื่อสารโทรคมนาคมที่ดี มีเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ hardware, software ที่มีประสิทธิภาพสูงด้วย จึงจะสามารถเข้าไปแสวงหา วิเคราะห์ ประเมินคุณค่า และคัดเลือกสารสนเทศต่างๆให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่หลักของห้องสมุด ศูนย์สารสนเทศ และความต้องการของผู้ใช้ให้มากที่สุด รวมถึงทำให้การเรียกจัดเก็บ (download) และให้บริการสารสนเทศเหล่านั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน

เนื้อหาสาระของสารสนเทศบน World Wide Web ของส่วนราชการ กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานต่างๆในกำกับของรัฐ จะให้ข้อมูลทั้งในส่วนที่เหมือนกันและที่แตกต่างกันไปตามบทบาท

ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละองค์กร ซึ่งพอสรุปได้ว่าเป็นเนื้อหาสาระเกี่ยวกับ

1 ประวัติพัฒนาการขององค์กร การจัดส่วนราชการ หน่วยงานระดับรองได้แก่ กรม กอง หรือหน่วยงานเทียบเท่าที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น

2 บทบาทภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงาน ทำเนียบผู้บริหารระดับสูงพร้อมชีวประวัติโดยสังเขป
3 รายละเอียดโครงการ นโยบาย แผนงาน เงินงบประมาณ เงินกองทุนเพื่อสนับสนุนโครงการ แผนงาน
4 เรื่องราวหรือบทความรู้ตามภาระหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบาย โครงการต่างๆของรัฐบาล หรือที่อยู่ในความสนใจ หรือที่เกี่ยวข้อง
5 ข่าวขององค์กร หรือข่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติตามภาระกิจที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ สื่อมวลชนต่าง ๆ
6 จดหมายข่าวเหตุการณ์ปัจจุบัน
7 สถิติข้อมูลต่าง ๆ
8 รายชื่อสิ่งพิมพ์ขององค์กรซึ่งบางรายการสามารถเข้าไปอ่านเนื้อหาเต็มได้ บางรายการอาจเรียกค้นได้เฉพาะบทสรุปหรือสาระสังเขป
9 ผลการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ
10 กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง มาตรฐานผลิตภัณฑ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้าต่างๆ


และที่ขาดมิได้เลยคือคำสั่งเชื่อมโยง (link) ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและที่น่าสนใจ


ตัวอย่าง องค์กรรัฐบาลกับการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้


กรมศุลกากร


ศุลกากรไทยสร้างปรากฎการณ์ใหม่ พัฒนาระบบ e-Customs สู่ยุค "ศุลกากรไฮเทค"
เนื่องจากความล่าช้าและคิวแถวยาวเหยียดของผู้คนที่เรียงรายรอยื่นเอกสารผ่านพิธีการศุลกากร เพื่อขออนุมัติใบขนส่งสินค้าในแต่ละด่านศุลกากรได้เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกเมื่อระบบคอมพิวเตอร์ได้เข้ามาสร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ ที่เปลี่ยนความยุ่งยากและซ้ำซ้อนของพิธีการศุลกากรต่าง ๆ ให้เรียบง่าย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการในทุกขั้นตอน เพียงผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในทุกที่ และทุกเวลา


จากหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเพียงการจัดเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าและส่งออกกรมศุลกากรยุคใหม่ได้ปรับบทบาทและหน้าที่มาสู่การพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศรวมถึงกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของการส่งออกไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้นหน่วยงานภาครัฐที่มีอายุกว่า 130 ปีแห่งนี้จึงได้มีการพลิกโฉมหน้าใหม่ เพื่อก้าวเข้าสู่ "ศุลกากรไฮเทค" ที่พิธีการศุลกากรในทุกขั้นตอนจะดำเนินการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในลัษณะที่เป็น e-Customs Paperless Trading ด้วยความทันสมัยของพิธีการศุลกากรยุคใหม่เราเชื่อว่าจะสามารถยกระดับรูปแบบการค้าระหว่างประเทศของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก


และนี่คือเป้าหมายของกรมศุลกากรในยุคนี้ นั่นคือคำบอกเล่าจาก อุทิศ ธรรมวาทิน อธิบดีกรมศุลกากร ผู้ผลักดันการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมฯให้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในวันนี้ อาจเรียกได้ว่าขั้นตอนพิธีการศุลกากรทั้งหมดทั้งการนำเข้าและส่งออก ได้ปรับสุ่ระบบ e-Customs สมบูรณ์แบบ และด้วยระบบใหม่นี้ ผุ้ประกอบการสามารถลดระยะเวลาและขั้นตอนในการติดต่อขออนุมัติใบขนส่งสินค้าจากกรมศุลกากร รวมทั้งเสียภาษีตามพิกัดอัตราของสินค้านั้น ๆ จนถึงขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้าจากเดิมที่ใช้เวลาถึง 3 วัน ให้เหลือเพียงภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง"เนื่องจากระบบใหม่เป็นระบบไร้กระดาษ หรือ paperless ทำให้เราสามารถลดภาระการจัดการและการดำเนินงานด้านเอกสารไปได้อย่างมาก เนื่องจากภาคเอกชนสามารถส่งข้อมูลต่าง ๆ มาให้เจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลและตรวจปล่อยสินค้าผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในกรมฯ จะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน ซึ่งวิธีนี้จะอำนวยความสะดวกให้กับกรมฯ และผู้ประกอบการทั้งยังประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายอีกด้วย" e-Customs "เน้นบูรณาการการให้บริการยุคใหม่ภายใต้ระบบ e-Customs กรมศุลกากรได้มีการออกแบบระบบใหม่ทั้งหมด จากเดิมที่ใช้เทคโนโลยี EDI หรือ Electronic Data Interchange ซึ่งเป็นระบบการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังจำเป็นต้องพิมพ์ใบขนสินค้า เพื่อนำมาดำเนินการพิธีการศุลกากรในขั้นต่อไป


แต่ระบบใหม่นี้ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวางแผนและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมศุลกากร ได้รับการออกแบบและพัฒนาบนพื้นฐานของ Web-based Technology ซึ่งใช้มาตรฐาน ebXML ในการรับส่งข้อมูล ทำให้กรมศุลกากรสามารถปรับสุ่ระบบไร้กระดาษได้ในทุกขั้นตอน ได้มีการนำเทคโนโลยี EDI มาใช้ในการรับส่งข้อมูลกับผู้ประกอบการมาตั้งแต่ปี 2541 แต่ระบบ EDI เป็นเทคโนโลยีเก่าที่มีขีดความสามารถจำกัด ผู้ประกอบการจึงยังคงต้องพิมพ์เอกสารมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ควบคู่กับการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ทำให้กรมฯ ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่จำนวนมากในการดำเนินการพิธีการศุลกากรสำหรับการนำเข้าและส่งออก ขณะที่ปริมาณใบขนสินค้าเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ เราจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาและขยายสู่ระบบใหม่ทั้งนี้ระบบ e-Customs ได้พัฒนาเพื่อใช้ครอบคลุมทั้งระบบ e-Import และ e-Export โดยเปิดใช้อย่างเป็นทางการในต้นปี 2550 และได้มีการขยายระบบครอบคลุมทุกด่านและท่าของกรมศุลกากรทั่วประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา และปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถรับริการจากกรุมศุลกากร ตั้งแต่การยื่นขอเลขที่ใบขนสินค้าการเสียภาษีออนไลน์ในลักษณะที่เป็น Electronic Fund Transfer กับเครือข่ายธนาคาร 10 แห่ง รวมถึงการตรวจปล่อยสินค้าได้ลักษณะที่เป็นบริการ ณ จุดเดียว หรือ "One Stop Service"


ขณะเดียวกัน กรมศุลกากรยังได้มีการเชื่อมโยงระบบกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อรับส่งข้อมูลการตรวจปล่อยสินค้าให้การท่าเรือฯ ได้ทราบล่วงหน้า การเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ของการท่าเรือฯ สามารถเตรียมสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์ที่ผ่านการอนุมัติใบขนสินค้าให้ผู้ประกอบการตรวจเช็คสินค้า และปล่อยสินค้าออกจากด่านได้สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น อุทิศ กล่าว ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ต้นทางจากผู้ประกอบการกรมศุลกากร จนถึงปลายทางที่การท่าเรือฯ ได้สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ประกอบการในการดำเนินการพิธีการศุลกากรและตรวจปล่อยสินค้าได้ในที่เดียว ทันใด ทั่วไทย และทุกเวลา ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นจุดสำคัญที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้


นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะระบบจัดการเอกสาร ที่สามารถลดความผิดพลาดและความซ้ำซ้อนของการบันทึกข้อมูลโดยคาดว่า ระบบ e-Customs สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการระบบเอกสารได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในการเก็บสินค้าไว้ในโรงพักสินค้าหรือคลังสินค้า และที่สำคัญ ด้วยความรวดเร็วในการตรวจปล่อยสินค้า ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มความคล่อมตัวในระบบการผลิตและการดำเนินธุรกิจได้อีกด้วย ปัจจุบัน ระบบงานหลักของ e-Customs สามารถสร้างบริการและรองรับการให้บริการแบบ e-Service แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนของพิธีการศุลกากร นับตั้งแต่ผู้นำเข้าและส่งออก ตัวแทนออกของ ผู้จัดการขนส่ง ตัวแทนรับจัดส่งสินค้า ผู้ให้บริการโลจีสติกส์ carriers ธนาคาร รวมถึงหน่วยงานออกใบรับรองต่าง ๆ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้ามาใช้ระบบ e-Customs แล้วถึง 95 เปอร์เซ็นต์ โดยในแต่ละเดือนจะมีข้อมูลที่รับ-ส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉลี่ยมากถึง 3,500,000 - 4,000,000 รายการ และทางกรมฯ คาดว่าในอนาคตกลุ่มผู้ประกอบการในส่วนที่เหลือจะเข้าสู่ระบบพิธีการศุลกากรแบบไร้กระดาษทั้งหมด และเพื่อเชื่อมโยงการปฏิบัติงานให้ครบวงจร


กรมศุลกากร ยังได้นำระบบระบุตัวตนด้วยคลื่นวิทยุ หรือ Radio Frequency Identification (RFID) มาใช้ควบคุมการขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ โดยโครงการ "e-Seal" นี้ จะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลใบขนส่งสินค้าจากระบบ e-Customs เพื่อควบคุมขนย้ายตู้สินค้าจากสถานประกอบการ หรือสถานที่ตรวจปล่อยและบรรจุสินค้าเข้าคอนเทนเนอร์ รวมทั้งควบคุมการนำสินค้าเข้า-ออกจากกรมศุลกากรไปยังคลังสินค้าอื่น ๆ อย่างเป็นระบบและมีความถูกต้อง รวดเร็ว


จากการปรับโฉมรูปแบบพิธีการศุลกากรในครั้งนี้ โครงการ e-Customs ของกรมศุลกากร "จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการแห่งปี หรือ Project of the Year ในหมวด Chang Management Project " จาก Thailand ICT Excellence Awards 2008 ซึ่งจัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย และวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ การพัฒนาโครงการ e-Customs ยังส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความยาก-ง่ายของการดำเนินธุรกิจจากธนาคารโลก โดยจากผลการสำรวจ Doing Business 2009 ซึ่งเป็นการศึกษาและจัดลำดับความยาก-ง่ายในการดำเนินธุรกิจโดยภาพรวมระหว่างเดือนเมษายน 2550 ถึงเดือนมิถุนายน 2551 ใน 181 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยได้ก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 13 จากเดิมที่อยู่ใน อันดับที่ 19 ในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ธนาคารโลกยังได้จัดอันดับความยาก-ง่าย ในเรื่องปัจจัยการค้าระหว่างประเทศของไทย จากอันดับที่ 51 มาเป็นอันดับที่ 10


ทั้งนี้ ธนาคารโลกให้เหตุผลว่าเนื่องจากประเทศไทยมีการพัฒนาและติดตั้งระบบ e-Customs เพื่ออำนวยความสะดวกในการผ่านพิธีการศุลกากรสำหรับการนำเข้าและส่งออกแบบไร้เอกสาร และ สามารถ ดัน e-Customs สู่ฐานการพัฒนาระบบ National Single Window นอกเหนือไปจากระบบพิธีการศุลกากรแบบไร้กระดาษ กรมศุลกากรยังได้มีการขยายต่อยอดระบบ e-Customs เพื่อเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่ควบคุมการนำเข้าและส่งออก และออกใบรับรองและใบอนุญาตต่าง ๆ ภายใต้โครงการ "e-Licensing" โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้มีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งสิ้นแล้ว 6 หน่วยงานประกอบด้วย



  1. กรมการค้าต่างประเทศ


  2. กรมโรงงานอุตสาหกรรม


  3. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ


  4. กรมธุรกิจพลังงาน


  5. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน


  6. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย


เพื่อรับส่งข้อมูลเลขที่ใบรับรองหรือใบอนุญาตสำหรับการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้กรมศุลกากรพิจารณาดำเนินการในขั้นตอนการผ่านพิธีศุลกากร เพื่อตรวจปล่อยสินค้าต่อไป


ระบบ e-Customs นับเป็นก้าวย่างก้าวแรกในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อพัฒนาไปสู่ระบบ National Single Window (NSW) ที่ทุกหน่วยงานจะเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันเพื่อให้บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งนี้ประชาชนและผู้ประกอบการต่าง ๆ สามารถเรียกใช้บริการจากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านทางเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์เพียงจุดเดียว โดยคำร้องขอใช้บริการต่าง ๆ จะถูกส่งไปยังหน่วยงานนั้น ๆ โดยอัตโนมัติ และจะทำการดำเนินการตอบรับผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์เช่นเดียวกัน ซึ่ง หากโครงการดังกล่าวมีการพัฒนาเป็นรูปธรรม จะเป็นการผลักดันให้เกิดบริการภาครัฐอิเล็กทรอนิกส (e-Government Service) อย่างเต็มรูปแบบ


ทั้งนี้การพัฒนาโครงการดังกล่าว กรมศุลกากรได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการเป็นเจ้าภาพพัฒนาระบบ NSW ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ระบบ NSW จะเป็นการเชื่อมยังข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ในลักษณะที่เป็น" Government-to-Government" และให้บริการกับภาคเอกชนในลักษณะที่เป็น "Government-to-Business "ซึ่งกรมศุลกากรคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการพัฒนาระบบ NSW ในอีก 2 ปีข้างหน้า และเพื่อรองรับแผนการพัฒนาระบบ NSW ซึ่งกรมศุลกากร มีแผนเดินหน้าพัฒนาระบบ e-Licensing ต่อไปให้ครอบคลุมหน่วยงานราชการอื่น ๆ มากขึ้น เนื่องจากระบบ e-Licensing ที่เชื่อมโยงหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เข้าด้วยกันจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการขยายไปสู่ระบบ NSW ในอนาคต นอกเหนือจากหน่วยงานราชการ 6 หน่วยงานที่ได้เชื่อมโยงเข้าสู่ระบบ e-Licensing แล้ว ปัจจุบันกรมศุลกากรอยู่ในระหว่างการพัฒนาและทดสอบการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับอีก 4 หน่วยงาน ได้แก่



  1. สำนักงานอาหารและยา


  2. กรมปศุสัตว์


  3. สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ


  4. กรมขนส่งทางบก


รวมทั้งหารือเพื่อพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลกับอีก 5 หน่วยงาน ได้แก่



  1. กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช


  2. กรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่


  3. กรมป่าไม้ กรมสรรพสามิต


  4. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล


ซึ่ง โครงการพัฒนาระบบ NSW ในระยะแรก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนิน ในปี 2554 จะเป็นการเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐให้ได้อย่างน้อย 40 หน่วยงาน เพื่อให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมกันนั้นยังมีแผนที่จะขยายระบบ NSW เพื่อเชื่อมโยงไปยังประเทศต่ง ๆ ภายใต้โครงการ " Asean Single Window " ซึ่งโครงการในระยะที่สองนี้จะมีการเชื่อมโยงผู้ให้บริการระบบการขนส่ง เช่น Carriers รวมทั้งผู้ให้บริการโลจีสติกส์ และตัวแทนเรือขนส่งต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการขนส่งสินค้าแบบ Multi Module รวมทั้งเชื่อมโยงระบบพิธีการศุลกากรไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในระบบการค้าระหว่างประเทศ และ กรมศุลฯ ก็กำลังเดินหน้าต่อยอด เสริมบริการ e-Services ต่อไปในอนาคต อีกด้วย


การพัฒนาระบบ e-Customs นับได้ว่าเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของการให้บริการภาครัฐในยุคของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ แต่เส้นทางแห่งการพัฒนาระบบไอทีของกรมศุลกากรเอง ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ กรมศุลกากรมีแผนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยจะมีการพัฒนาต่อยอดบริการเสริมจากระบบงานหลักดังกล่าว


ซึ่งโครงการที่ได้รับงบประมาณเพื่อการพัฒนาในขั้นต่อไป จะมุ่งเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจสามารถติดต่อกับกรมศุลกากรในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กรมศุลกากรมีแผนที่จะพัฒนาโครงการไอทีใหม่ อาทิ โครงการผ่านพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสินค้าเร่งด่วนหรือ e-Express ซึ่งจะช่วยทำการตรวจคัดของเร่งด่วนเป็นประเภท "ยกเว้นอากร" หรือ "ชำระค่าภาษีอากร" โดยผู้ประกอบการสามารถชำระค่าภาษีอากรได้ที่ทำการของสนามบินสุวรรณภูมิหรือชำระผ่านระบบ e-Payment และโครงการพัฒนาระบบติดตามสถานะการผ่านพิธีการศุลกากรทางอินเทอร์-เน็ต หรือ e-Tracking ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกสามารถติดตามสถานะและความเคลื่อนไหวของการดำเนินงานในขั้นตอนพิธีการศุลกากรต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตขณะเดียวกัน


กรมศุลกากรกำลังอยู่ในระหว่างจัดทำแผนการพัฒนาโครงการระบบคืนภาษีอากรตามมาตรา 19 ทวิ ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือ e-Drawback โดยระบบใหม่ดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกให้ทั้งเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและผู้ประกอบการดำเนินการคืนค่าภาระภาษีอากรสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้าได้สะดวกรวดเร็วผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามข้อกำหนดของมาตรา 19 ทวิ ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการคืนค่าภาระภาษีอากรสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้าได้แก่อากรขาเข้าค่าธรรมเนียมภาษีอื่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย ที่ผู้นำเข้าได้เสียหรือวางประกันไว้ขณะนำเข้าวัตถุดิบเพื่อไปผลิต ผสม ประกอบ หรือบรรจุเป็นสินค้าส่งออก โดยผู้ประกอบการจะได้รับการคืนอากรโดยจะคำนวณค่าภาษีอากรที่คืนให้ตามสูตรการผลิต โดยปกติ ขั้นตอนการขอคืนภาษีตามข้อกำหนดดังกล่าว จะใช้เวลาในการดำเนินการอย่างน้อย 15 วัน และมีขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อนเนื่องจากเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลและทำการคำนวณการคืนภาษี กรมศุลกากรจึงมีแนวความคิดที่จะนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยบริหารงานในส่วนนี้


เพื่อให้การดำเนินงานตามมาตรา 19 ทวิ เป็นไปอย่างอัตโนมัติ ถูกต้อง และรวดเร็วขณะนี้กรมศุลกากรอยู่ในระหว่างการจัดทำข้อกำหนดของโครงการเพื่อขออนุมัติงบประมาณ โดยคาดว่าการพัฒนาระบบจะเริ่มในปี 2553 และคาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาเป็นเวลา 2 ปีเท่านั้น

1 ความคิดเห็น:

  1. อาจารย์เนี้ย หนูไม่ค่อยมีเวลาทำเลย
    แต่ว่าก็ทำน่ะส่งช้าดีกง่าไม่ส่งใช่ป่ะ++++++

    ตอบลบ