ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาสำคัญศาสนาหนึ่งของโลก มีคนนับถือประมาณ 1,600 ล้านคน นับว่ามีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับสองในโลก พื้นที่รวมของกลุ่มประเทศมุสลิมทั้งหมดประมาณ 34,722,286 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ลองจิจูด 141 องศาตะวันออก ทางด้านตะวันออกของเขตพรมแดนประเทศอินโดนีเซีย ทอดยาวไปจนถึงลองจิจูด 17.29 องศาตะวันตก ณ กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล (Senegal) ซึ่งอยู่ในภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา จนถึงละติจูด 55.26 องศาเหนือ บริเวณเส้นเขตแดนตอนเหนือของประเทศคาซัคสถาน ทอดยาวเรื่อยไปจนถึงเส้นเขตแดนทางตอนใต้ของประเทศแทนซาเนีย ที่ละติจูด 11.44 องศาใต้ในโลกของเรานี้มีจำนวนประเทศกว่า 200 ประเทศ เป็นประเทศมุสลิมกว่า 67 ประเทศ ในประเทศไทยมีศาสนาอิสลามเข้ามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ศาสดาของศาสนาอิสลามคือ มุฮัมหมัด
ศาสนาอิสลาม คือ ความศรัทธา ข้อบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิบัติและจริยธรรม ซึ่งบรรดาศาสดา ที่อัลลอฮฺ ได้ประทานลงมาเป็นผู้นำ เพื่อมาสั่งสอนและแนะนำแก่มวลมนุษยชาติ สิ่งทั้งหมดเหล่านี้เรียกว่า ดีน หรือ ศาสนา นั่นเอง ผู้ที่มีความศรัทธาจะตระหนักอยู่เสมอว่า ชีวิตของเขาได้พันธนาการเข้ากับอำนาจสูงสุดของพระผู้ทรงสร้างโลก ในทุกสถานภาพของเขาจะรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า และมอบหมายตนเองให้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของพระองค์ตลอดเวลา เขาเป็นผู้มีจิตใจมั่นคงและมีสมาธิเสมอ
อิสลามคือรูปแบบการดำเนินชีวิตทีถูกกำหนดโดยผู้ที่รู้รายละเอียดของมนุษย์มากที่สุดก็คือผู้สร้าง..อัลลอฮฺ คำว่า อัลลอฮฺ แปลว่า พระเจ้า ซึ่งเป็นคำเรียกเฉพาะที่แยกออกจากคำในภาษาอาหรับอื่นๆที่มีความหมายว่า พระเจ้า
อิสลาม เป็นคำภาษาอาหรับ (ภาษาอาหรับ: الإسلام) แปลว่า การสวามิภักดิ์ ซึ่งหมายถึงการสวามิภักดิ์อย่างบริบูรณ์แด่ อัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้า ด้วยการปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์ อิสลาม มีรากศัพท์มาจากคำว่า อัส-สิลมฺ หมายถึง สันติ โดยนัยว่าการสวามิภักดิ์ต่อพระผู้เป็นเจ้าจะทำให้มนุษย์ได้พบกับสันติภาพทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนามนุษยชาติตลอดกาล ตั้งแต่แรกเริ่มของการกำเนิดของมนุษย์ คือนบีอาดำ ผ่านศาสดามาหลายท่านในแต่ละยุคสมัย จนถึงศาสดาท่านสุดท้ายคือมุฮัมหมัด และส่งผ่านมายังปัจจุบันและอนาคต จนถึงวันสิ้นโลก
บรรดาศาสนทูตในอดีตล้วนแต่ได้รับมอบหมายให้สอนศาสนาอิสลามแก่มนุษยชาติ ศาสนทูตท่านสุดท้ายคือนมุฮัมหมัด บุตรของอับดุลลอฮฺ บินอับดิลมุฏฏอลิบ จากเผ่ากุเรชแห่งอารเบีย ได้รับมอบหมายให้เผยแผ่สาส์นของอัลลอฮ์ในช่วงปี ค.ศ. 610 - 633 เฉกเช่นบรรดาศาสดาในอดีต โดยมี มะลักญิบรีล เป็นสื่อระหว่างอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าและบรรดาศาสดาท่านต่างๆมาโดยตลอด
พระโองการแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่ทะยอยลงมาในเวลา 23 ปี ได้รับการรวบรวมขึ้นเป็นเล่มมีชื่อว่า อัลกุรอาน ซึ่งเป็นธรรมนูญแห่งชีวิตมนุษย์ และแบบอย่าง และวจนะที่รายงานโดยบุคคลรอบข้างที่ผ่านการกลั่นกรองสายรายงานแล้วเรียกว่า ฮะดีษ เพื่อที่มนุษย์จะได้ยึดเป็นแบบอย่าง และแนวทางในการครองตนบนโลกนี้อย่างถูกต้องก่อนกลับคืนสู่พระผู้เป็นเจ้า
ภาพการไปประกอบพิธีฮัจย์ของผู้ศรัทธาทั่วโลกที่กะห์บะห์(หินดำ)
ที่เมืองมักกกะห์ประเทศซาอุดิอาระเบีย
สาส์นแห่งอิสลามที่ถูกส่งมาให้แก่มนุษย์ทั้งมวลมีจุดประสงค์หลัก 3 ประการคือ:
1.เป็นอุดมการณ์ที่สอนมนุษย์ให้ศรัทธาในอัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว ที่สมควรแก่การเคารพบูชาและภักดีโดยไม่นำสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาเทียบเคียง ศรัทธาในความยุติธรรมของพระองค์ ศรัทธาในพระโองการแห่งพระองค์ ศรัทธาในวันปรโลก วันซึ่งมนุษย์ฟื้นคืนชีพอีกครั้งเพื่อรับการพิพากษา และรับผลตอบแทนของความดีความชั่วที่ตนได้ปฏิบัติไปในโลกนี้ มั่นใจและไว้วางใจต่อพระองค์ เพราะพระองค์คือที่พึ่งพาของทุกสรรพสิ่ง มนุษย์จะต้องไม่สิ้นหวังในความเมตตาของพระองค์ และพระองค์คือปฐมเหตุแห่งคุณงามความดีทั้งปวง
2.เป็นธรรมนูญสำหรับมนุษย์ เพื่อให้เกิดความสงบสุขในชีวิตส่วนตัว และสังคม เป็นธรรมนูญที่ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าในด้านการปกครอง เศรษฐกิจ หรือนิติศาสตร์ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ไปจนกระทั่งระดับรัฐ อิสลามสั่งสอนให้มนุษย์อยู่กันด้วยความเป็นมิตร ละเว้นการรบราฆ่าฟันโดยไม่มีเหตุอันควร การทะเลาะเบาะแว้ง การละเมิดและรุกรานสิทธิของผู้อื่น ไม่ลักขโมย ฉ้อฉล หลอกลวง ไม่ผิดประเวณี หรือทำอนาจาร ไม่ดื่มของมึนเมาหรือรับประทานสิ่งที่เป็นโทษต่อร่างกายและจิตใจ ไม่บ่อนทำลายสังคมแม้ว่าในรูปแบบใดก็ตาม
3.เป็นจริยธรรมอันสูงส่งเพื่อการครองตนอย่างมีเกียรติ เน้นความอดกลั้น ความซื่อสัตย์ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเมตตากรุณา ความกตัญญูกตเวที ความสะอาดของกายและใจ ความกล้าหาญ การให้อภัย ความเท่าเทียม และความเสมอภาคระหว่างมนุษย์ การเคารพสิทธิของผู้อื่น สั่งสอนให้ละเว้นความตระหนี่ถี่เหนียว ความอิจฉาริษยา การติฉินนินทา ความเขลาและความขลาดกลัว การทรยศและอกตัญญู การล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น
อิสลามเป็นศาสนาของพระผู้เป็นเจ้าที่เป็นทางนำในการดำรงชีวิตทุกด้านตั้งแต่ตื่นจนหลับ และตั้งแต่เกิดจนตาย แก่มนุษย์ทุกคน ไม่ยกเว้น อายุ เพศ เผ่าพันธุ์ วรรณะ ฐานันดร หรือ ยุคสมัย ใด
อิสลามสอนว่า ถ้าหากมนุษย์ พิจารณาด้วยสติปัญญาและสามัญสำนึกจะพบว่า จักรวาลและมวลสรรพสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ มิได้อุบัติขึ้นมาด้วยตัวเอง เป็นที่แน่ชัดว่า สิ่งเหล่านี้ได้ถูกอุบัติขึ้นมาโดยพระผู้สร้าง ผู้ทรงสูงสุดเพียงพระองค์เดียว ที่ไม่แบ่งภาค หรือแบ่งแยกเป็นสิ่งใด ไม่ถูกบังเกิด ไม่ถูกกำเนิด และไม่ให้กำเนิดบุตร ธิดาใดๆ ผู้ทรงสร้าง และบริหารสรรพสิ่งด้วยอำนาจและความรอบรู้ที่ไร้ขอบเขต ทรงกำหนดกฎเกณฑ์ที่โดยทั่วไปไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือไว้ทั่วทั้งจักรวาลหรือที่เข้าใจว่าเป็น"กฎธรรมชาติ" ทรงขับเคลื่อนจักรวาลด้วยระบบที่ละเอียดอ่อน มีเป้าหมาย ซึ่งไม่มีสรรพสิ่งใดถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร้สาระ
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตา ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาอย่างประเสริฐจะเป็นไปได้อย่างไร ที่พระองค์จะปล่อยให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่ไปตามลำพัง โดยไม่ทรงเหลียวแล หรือปล่อยให้สังคมมนุษย์ และสิ่งมีชีวิต กำเนิดขึ้น แล้วดำเนินไปตามยถากรรมของตัวเอง สภาวะแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่จึงเป็นความพอดีอย่างทีสุดที่ผู้ใช้ปัญญา ไม่สามารถอธิบายได้ด้วย"ความบังเอิญ" สอดคล้องตามทฤษฎีความน่าจะเป็นทางคณิตศาสตร์
พระองค์ทรงขจัดความสงสัยเหล่านี้ ด้วยการประทานกฎการปฏิบัติต่าง ๆ ผ่านบรรดาศาสดา ให้มาสั่งสอนและแนะนำมนุษย์ไปสู่การปฏิบัติ สำหรับการดำเนินชีวิต แน่นอนมนุษย์อาจมองไม่เห็นผล หรือได้รับประโยชน์จากการทำความดี หรือได้รับโทษจากการทำชั่ว ของตนในชีวิตบนโลกนี้ ที่เป็นเพียงโลกแห่งการทดสอบ โลกแห่งการตอบแทนที่แท้จริงยังมาไม่ถึง
จากจุดนี้ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่า ต้องมีสถานที่อื่นอีก อันเป็นสถานที่ตรวจสอบการกระทำของมนุษย์ อย่างละเอียดถี่ถ้วน ถ้าเป็นความดีพวกเขาจะได้รับรางวัลเป็นผลตอบแทน แต่ถ้าเป็นความชั่วกจะถูกลงโทษไปตามผลกรรมนั้น ศาสนาได้เชิญชวนมนุษย์ไปสู่หลักการศรัทธา และความเชื่อมั่นที่สัตย์จริง พร้อมพยายามผลักดันมนุษย์ ให้หลุดพ้นจากความโง่เขลาเบาปัญญา ระบอบการกดขี่ การแบ่งชั้นวรรณะ และบังเกิดสันติสุขของมนุษยชาติโดยรวมในที่สุด
หลักศรัทธาอิสลามแนวท่านศาสดา
1.ศรัทธาว่าอัลลอฮฺเป็นพระเจ้า
2.ศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ต่าง ๆ ที่อัลลอหฺประทานลงมาในอดีต เช่น เตารอต อินญีล ซะบูร และอัลกุรอาน
3.ศรัทธาในบรรดาศาสนทูตต่าง ๆ ที่อัลลอฮฺได้ทรงส่งมายังหมู่มนุษย์ และนบีมุฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นศาสนทูตคนสุดท้าย
4.ศรัทธาในบรรดามะลาอิกะฮฺ บ่าวผู้รับใช้อัลลอฮฺ
5.ศรัทธาในวันสิ้นสุดท้าย คือหลังจากสิ้นโลกแล้ว มนุษย์จะฟื้นขึ้น เพื่อรับการตอบสนองความดีความชั่วที่ได้ทำไปบนโลกนี้
6.ศรัทธาในกฎสภาวะ หรือ สิ่งที่เป็นการกำหนด และเงื่อนไขการกำหนดจากพระผู้เป็นเจ้า
หลักจริยธรรม
ศาสนาสอนว่า ในการดำเนินชีวิตจงเลือกสรรเฉพาะสิ่งที่ดี อันเป็นที่ยอมรับของสังคม จงทำตนให้เป็นผู้ดำรงอยู่ในศีลธรรม พัฒนาตนเองไปสู่การมีบุคลิกภาพที่ดี เป็นคนที่รู้จักหน้าที่ ห่วงใย มีเมตตา มีความรัก ซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น รู้จักปกป้องสิทธิของตน ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เป็นผู้มีความเสียสละไม่เห็นแก่ตัว และหมั่นใฝ่หาความรู้ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นคุณสมบัติของผู้มีจริยธรรม ซึ่งความสมบูรณ์ทั้งหมดอยู่ที่ความยุติธรรม
สุเหร่า(โบถส์)ที่เมืองมาดีนะห์ ประเทศซาอุดิอารเบีย
หลักการปฏิบัติ
ศาสนาสอนว่า กิจการงานต่าง ๆ ที่จะทำนั้น มีความเหมาะสมกับตนเองและสังคม ขณะเดียวกันต้องออกห่างจากการงานที่ไม่ดี ที่สร้างความเสื่อมเสียอย่างสิ้นเชิงส่วนการประกอบคุณงามความดีอื่น ๆ การถือศีลอด การนมาซ และสิ่งที่คล้ายคลึงกับสิ่งเหล่านี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเป็นบ่าวที่จงรักภักดี และปฏิบัติตามบัญชาของพระองค์ กฎเกณฑ์และคำสอนของศาสนา ทำหน้าที่คอยควบคุมความประพฤติของมนุษย์ ทั้งที่เป็นหลักศรัทธา หลักปฏิบัติและจริยธรรมเราอาจกล่าวได้ว่าผู้ที่ละเมิดคำสั่งต่าง ๆ ของศาสนา มิได้ถือว่าเขาเป็นผู้ที่ศรัทธาอย่างแท้จริง หากแต่เขากระทำการต่าง ๆ ไปตามอารมณ์และความต้องการใฝ่ต่ำของเขาเท่านั้น
ศาสนวินัย นิติศาสตร์และการพิพากษา
1.วาญิบ คือหลักปฏิบัติภาคบังคับที่มุกัลลัฟ (มุสลิมผู้อยู่ในศาสนนิติภาวะ) ทุกคน ต้องปฏิบัติตาม ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงทัณฑ์ เช่นการปฏิบัติตาม ฐานบัญญัติของอิสลาม (รุกน) ต่าง ๆ การศึกษาวิทยาการอิสลาม การทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว เป็นต้น
2.ฮะรอม คือกฏบัญญัติห้ามที่มุกัลลัฟทุกคนต้องละเว้น ผู้ที่ไม่ละเว้นจะต้องถูกลงทัณฑ์
3.ฮะลาล คือกฏบัญญัติอนุมัติให้มุกัลลัฟกระทำได้ อันได้แก่ การนึกคิด วาจา และการกระทำที่ศาสนาได้อนุมัติให้ เช่น การรับประทานเนื้อปศุสัตว์ที่ได้รับการเชือดอย่างถูกต้อง การค้าขายโดยสุจริตวิธี การสมรสกับสตรีตามกฏเกณฑ์ที่ได้ระบุไว้ เป็นต้น
4.มุสตะฮับ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ซุนนะฮฺ (ซุนนะห์, ซุนนัต) คือกฏบัญญัติชักชวนให้มุสลิม และมุกัลลัฟกระทำ หากไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนศาสนวินัย โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับหลักจริยธรรม เช่นการใช้น้ำหอม การขริบเล็บให้สั้นเสมอ การนมาซนอกเหนือการนมาซภาคบังคับ
5.มักรูฮฺ คือกฏบัญญัติอนุมัติให้มุกัลลัฟกระทำได้ แต่พึงละเว้น คำว่า มักรูหฺ ในภาษาอาหรับมีความหมายว่า น่ารังเกียจ โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับหลักจริยธรรม เช่นการรับประทานอาหารที่มีกลิ่นน่ารังเกียจ การสวมเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ขัดต่อกาลเทศะ เป็นต้น
6.มุบาฮฺ คือสิ่งที่กฏบัญญัติไม่ได้ระบุเจาะจง จึงเป็นความอิสระสำหรับมุกัลลัฟที่จะเลือกกระทำหรือละเว้น เช่นการเลือกพาหนะ อุปกรณ์เครื่องใช้ หรือ การเล่นกีฬาที่ไม่ขัดต่อบทบัญญัติห้าม
แหล่งที่มาของข้อมูล
http://th.wikipedia.org/